วันอาทิตย์ที่ 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

การนำนโยบายสู่การปฏิบัติ

ดร.สมภาร ศิโล* (2553)
การนำนโยบายลงไปสู่การปฏิบัติ หรือการถ่ายทอดนโยบายสู่การปฏิบัติถือเป็นขั้นตอนย่อยหนึ่งของขั้นตอนหลักเรื่อง การนำนโยบายไปปฏิบัติ เป็นสิ่งสำคัญในการผลักดันให้นโยบายได้รับการรับรู้ เข้าใจ ยอมรับและสร้างทัศนคติที่ดีต่อผู้ปฏิบัติตามนโยบายและผู้ได้รับ การรับรู้ เข้าใจ ยอมรับและสร้างทัศนคติที่ดีต่อ ผู้ปฏิบัติตามนโยบายและผู้ได้รับผลจากนโยบาย อันจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้นโยบายได้รับความสำเร็จในที่สุด ในการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ ผู้มอบและผู้รับนโยบายจะต้องมีความชัดเจนเรื่ององค์ประกอบของนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้รับนโยบายจะต้องเข้าใจและสามารถแปลความหมายของนโยบายได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้เนื่องจากโดยทั่วไปนโยบายอาจจะมีลักษณะที่ขาดความชัดเจนในตัวเองอยู่บ้าง กล่าวคือ นโยบายส่วนหนึ่งมีลักษณะเป็นเชิงอุดมการณ์ นโยบายบางครั้งผู้กำหนดทำให้มีความชัดเจนมากขึ้น คือมีลักษณะเป็นเชิงทางเลือก และนโยบายที่ดีจะมีความชัดเจนถึงขั้นที่บอกแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนด้วย คือมีลักษณะเป็นเชิงมาตรการ ในเรื่ององค์ประกอบของนโยบายนี้จะช่วยให้ผู้กำหนดนโยบายหรือผู้มอบนโยบายตระหนักถึงความชัดเจนในนโยบาย ที่ตนกำหนดขึ้น อันจะทำให้ผู้รับนโยบายเกิดความเข้าใจชัดเจนง่ายต่อการรับนำไปตีความและจัดทำเป็น นโยบายรอง และแผนปฏิบัติง่ายขึ้นในขณะเดียวกันก็จะช่วยให้ผู้รับนโยบายสามารถแยกแยะส่วนสำคัญของนโยบายและแปลความหมายได้ถูกต้องชัดเจนง่ายขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายใหญ่ให้เป็นนโยบายย่อยก็ดี การแปลงนโยบายให้เป็นแผนปฏิบัติก็ดีจะต้องจัดวัตถุประสงค์แนวทางดำเนินการและกลไกให้สอดคล้องสัมพันธ์กัน
1. ระดับของนโยบาย
โดยทั่วไปนโยบายมักมีหลายระดับ ลดหลั่นกันไปตามระดับการบังคับบัญชารับผิดชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การนำนโยบายลงสู่การปฏิบัติจึงต้องมีการจัดระดับของนโยบายตามแนวดิ่งและแบ่งซอยขอบเขตของนโยบาย ลดหลั่นตามความรับผิดชอบของระดับหน่วยงานดังกล่าวด้วย การแบ่งโดยอาจแบ่งซอยขอบเขตของนโยบายตามกลุ่มเป้าหมาย พื้นที่ เนื้อหาสาระ หรือวิธีอื่นๆก็ได้ ในการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัตินี้ ผู้มอบและผู้รับนโยบายจะต้องมีความชัดเจนเรื่ององค์ประกอบของนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้รับนโยบายจะต้องเข้าใจและสามารถแปลความหมายของนโยบายได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้เนื่องจากนโยบายอาจมีลักษณะที่ขาดความชัดเจนในตัวเองอยู่บ้าง กล่าวคือนโยบายส่วนหนึ่งมีลักษณะเป็นเชิงอุดมการณ์ แต่ในบางครั้งผู้กำหนดนโยบาย ทำให้มีความชัดเจนมากขึ้น คือมีลักษณะเป็นเชิงทางเลือก นโยบายที่ดีจะมีความชัดเจนถึงขั้นที่บอกแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนด้วย คือมีลักษณะเป็นเชิงมาตรการ อันจะทำให้ผู้รับนโยบายเกิดความเข้าใจชัดเจนง่ายต่อการรับนำไปตีความและจัดทำเป็นนโยบายรอง และแผนปฏิบัติง่ายขึ้น ในขณะเดียวกันก็จะช่วยให้ผู้รับนโยบายสามารถแยกแยะส่วนสำคัญของนโยบายและแปลความหมายได้ถูกต้องชัดเจนง่ายขึ้น ทั้งนี้เนื่องจาก การเปลี่ยนแปลงนโยบายใหญ่ให้เป็นนโยบายย่อยก็ดี การแปลงนโยบายให้เป็นแผนปฏิบัติก็ดี จำเป็นต้องจัดวัตถุประสงค์ แนวทางดำเนินการและกลไกให้สอดคล้องสัมพันธ์กัน
โดยสรุปแล้วจะเห็นว่า นโยบายมีหลายระดับตามระดับการบังคับบัญชา ผู้ปฏิบัติงานต้องมีความเข้าใจและสามารถแปลความหมายของนโยบายได้ว่า สิ่งใดเป็นนโยบายหลัก สิ่งใดเป็นนโยบายรอง และสามารถดำเนินการตามกลยุทธ์ให้สอดคล้องซึ่งกันและกัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนด
2. ขั้นตอนการดำเนินการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ
ในการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ ผู้รับนโยบายระดับกลางโดยทั่วไปจะทำหน้าที่ 2 ส่วนคือ 1) นำนโยบายมาจัดทำเป็นแผนสำหรับหน่วยงานของตนเองเป็นผู้ปฏิบัติ และ 2) กำหนดนโยบายหรือแผนให้หน่วยงานระดับล่างลงไปรับไปปฏิบัติ ส่วนผู้ปฏิบัติระดับล่างจะทำหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่งหรือ ทั้ง 2 อย่างต่อไปนี้คือ 1) นำนโยบายจากหน่วยเหนือมาจัดทำเป็นแผนปฏิบัติ และ 2) รับแผนของหน่วยเหนือมาปฏิบัติ ซึ่งอาจจะต้องมีการจัดทำแผนปฏิบัติการขึ้นด้วยก็ได้ ดังนั้นผู้รับมอบนโยบายจึงจำเป็นต้องมีความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างนโยบายและแผน และสามารถแปลความหมายของนโยบายแล้วเชื่อมโยงมาสู่การทำแผนให้ได้ ในการแปลงนโยบายลงไปสู่การปฏิบัติอาจจะมีการกำหนดนโยบายย่อย หรือนโยบายรองให้หน่วยงานระดับล่างรับไปดำเนินการ แต่ในท้ายที่สุดจำเป็นต้องมีแผนเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติ
การนำนโยบายสู่การปฏิบัติจึงมีกิจกรรมอย่างน้อย 4 เรื่องคือ
(1) การตีความวัตถุประสงค์ในนโยบาย แล้ววิเคราะห์แยกแยะเป็นวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายย่อยๆ ลงไปเพื่อให้เป้าหมายย่อยเหล่านั้นมีความชัดเจน ปฏิบัติได้ และทุกเป้าหมายที่กำหนดนั้นต่างมุ่งตอบสนองวัตถุประสงค์ของนโยบาย
(2) การขยายความเรื่องแนวทางการบรรลุวัตถุประสงค์ในนโยบาย เพื่อเห็นวิธีการปฏิบัติได้ซึ่งแนวทางเหล่านั้นตอบสนองเป้าหมายของแผนและสอดคล้องกับแนวทางในนโยบายด้วย
(3) การแปลความหมายในส่วนกลไกของของนโยบายออกมาในรูปที่เป็นเครื่องมือและทรัพยากรที่จำเป็นต้องใช้ ทั้งนี้ตามวิธีการที่กำหนดไว้ในแผน ว่าต้องมีอะไรบ้าง จำนวนเท่าใดและคุณภาพอย่างไร
(4) การจัดหาความสัมพันธ์ระหว่างวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายของแผน วิธีการปฏิบัติและทรัพยากรที่ใช้ให้ประสาน สอดคล้องกันในลักษณะการคาดการณ์ในอนาคต ซึ่งมีทรัพยากร เวลาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยนั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ นโยบายหนึ่งๆอาจมีการถ่ายทอดลงไปเป็นแผนปฏิบัติมากกว่าแผนหนึ่งก็ได้ และในกรณีเช่นนี้ เพื่อมิให้แต่ละแผนมีลักษณะแตกแยกคนละทิศทาง จำเป็นต้องใช้หลักการประสานแผนกำกับในลักษณะใดลักษณะหนึ่ง 2 ลักษณะดังนี้คือ
(1) การกำหนดแผนในลักษณะเป็นองค์ประกอบ คือการแยกแยะวัตถุประสงค์ของนโยบายออกมาในรูปที่ทำให้เกิดแผนมากกว่า 1 แผน และแต่ละแผนต้องปฏิบัติพร้อมๆกันไป จะขาดแผนใดแผนหนึ่งไม่ได้ มิฉะนั้นจะไม่บรรลุเป้าหมายของนโยบายเลย
(2) การกำหนดแผนในลักษณะเป็น การสนับสนุน คือมีการแยกแยะวัตถุประสงค์และแนวทางปฏิบัติของนโยบายออกเป็น หลายๆส่วนและแต่ละส่วนมีความเป็นอิสระในตัวเอง แต่สามารถจัดลำดับความสำคัญเป็นส่วนหลัก ส่วนรองไว้ ซึ่งการแยกแยะวัตถุประสงค์ และแนวทางปฏิบัติดังกล่าวจะทำให้เกิดแผนมากกว่าหนึ่งแผน และแต่ละแผนสามารถทำให้นโยบายบรรลุความสำเร็จได้ในตัวเอง แม้จะขาดแผนอื่นๆ แต่หากมีแผนอื่นๆ ด้วยจะช่วยให้นโยบายบรรลุเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น
ส่วนขั้นตอนการนำนโยบายลงสู่การปฏิบัติมีลักษณะเป็นการจัดทำนโยบายย่อยรองรับนโยบายใหญ่หรือการจัดทำแผนเพื่อให้เป็นกลไกของนโยบายนั่นเอง ดังนั้นผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้อง จึงจำเป็นต้องทราบถึงขั้นตอนและปัจจัยที่จะต้องพิจารณาในกระบวนการดังกล่าวด้วย จึงจะทำให้การนำนโยบายลงสู่การปฏิบัติได้ผลดี ขั้นตอนดังกล่าวอาจกำหนดตามลำดับดังนี้
ขั้นที่ 1 วิเคราะห์นโยบายของหน่วยเหนือ เพื่อให้สามารถตีความวัตถุประสงค์ แนวทาง และกลไกของนโยบายได้ถูกต้องชัดเจน จำเป็นต้องศึกษาวิเคราะห์ถึงนโยบายของหน่วยเหนือที่กำหนดมาการวิเคราะห์ที่ดีอาจจำเป็นต้องศึกษาถึงประวัติความเป็นมาของนโยบายนั้น แนวความคิดที่อยู่เบื้องหลังของนโยบาย ลักษณะและกระบวนการก่อเกิดของนโยบายการเข้ามามีบทบาทของกลุ่มสถาบัน หรือผู้นำในการกำหนดนโยบาย ผลของการนำนโยบายนั้นไปปฏิบัติที่ผ่านมา ตลอดจนการปรับเปลี่ยนพัฒนานโยบายนั้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการช่วยให้สามารถตีความหมาย แยกแยะ คาดการณ์ และขยายความ วัตถุประสงค์ แนวทาง และกลไกลของนโยบายดังกล่าวได้ถูกต้อง ลึกซึ้ง ยิ่งขึ้น
ขั้นที่ 2 วิเคราะห์นโยบายและแผนของหน่วยงานปฏิบัติ ผู้นำนโยบายของหน่วยเหนือ จำเป็นต้องทราบว่านโยบายนั้นเป็นนโยบายเก่าหรือใหม่ แต่มีการปรับเปลี่ยนจากนโยบายเดิม และนโยบายนั้นได้มีการถ่ายทอดลงเป็นนโยบายหรือแผนของหน่วยงานที่ตนเองรับผิดชอบแล้วอย่างไร ทั้งนี้เพื่อจะได้นำนโยบายและแผนนั้นมาวิเคราะห์โดยใช้แนวทางเดียวกันกับการวิเคราะห์นโยบายของหน่วยเหนือแต่จะสามารถวิเคราะห์ได้ละเอียดลึกซึ้งกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านปัญหาการปฏิบัติและผลของการนำมาปฏิบัติเพื่อจะนำผลการวิเคราะห์ไปใช้ประกอบในการวางแผนต่อไป
ขั้นที่ 3 วิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย หรือพื้นที่ที่รับผิดชอบนอกจากนโยบายของหน่วยเหนือ นโยบายและแผนในเรื่องนั้นๆ ของหน่วยงานตัวเองแล้ว ผู้รับนโยบายก่อนจะจัดทำแผนต่อไปจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์สภาพปัญหาและความต้องการของประชากรกลุ่มเป้าหมายหรือปัญหาของพื้นที่รับผิดชอบเป็นการเฉพาะด้าน กล่าวคือ หากหน่วยงานที่ผู้รับนโยบายเป็นระดับอำเภอ ผู้รับนโยบายจำเป็นต้องนำข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาและความต้องการในนโยบายนั้นมาพิจารณา หากยังไม่มีก็จำเป็นต้องเก็บรวบรวมเพิ่มเติม โดยกำหนดกรอบเพื่อให้เป็นแนวทางในการรวบรวมวิเคราะห์ให้ตรงกับประเด็นหลักที่ต้องการ ในการวิเคราะห์อาจแยกแยะให้เห็นสภาพปัญหาและความแตกต่างของกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มต่างๆ หรือแยกแยะตามพื้นที่ทั้ง 2 ด้าน ทั้งนี้เพื่อให้เห็นระดับของสภาพที่เป็นอยู่ปัจจุบันและช่องว่างระหว่างเป้าหมายของนโยบายที่หน่วยเหนือต้องการ อันจะนำไปสู่การกำหนดเป้าสำเร็จและความเป็นไปได้ของเป้าหมายที่จะตั้งขึ้นตลอดจนวิธีปฏิบัติและทรัพยากรที่จะต้องใช้
ขั้นที่ 4 วิเคราะห์ศักยภาพของหน่วยงาน ในการวางแผนเพื่อตอบสนองนโยบายนั้น จำเป็นต้องมีการจำแนกเป้าสำเร็จ แนวทางปฏิบัติและทรัพยากรที่ใช้ของแต่ละหน่วยงานที่รับแผนไปปฏิบัติ ทั้งนี้เพราะแต่ละหน่วยงานนอกจากจะมีปัญหาและความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่อาจแตกต่างกันไปแล้ว ยังมีศักยภาพและความพร้อมที่แตกต่างกันไปด้วย ศักยภาพและความพร้อมที่จะปฏิบัติตามนโยบาย ความสามารถที่จะปฏิบัติตามนโยบายให้บรรลุผลสำเร็จ ซึ่งโดยทั่วไปพิจารณาได้จากปัจจัย 3 ด้านคือ
(1) ปัจจัยด้านโครงสร้างของหน่วยงาน คือการที่หน่วยงานมีโครงสร้างเล็ก ใหญ่ ขนาดใด การจัดหน่วยงาน บทบาท ภารกิจกว้าง แคบเพียงใด ตลอดจนมีการจัดตั้งเก่า ใหม่ อย่างไร โครงสร้างหน่วยงานจะเป็นศักยภาพพื้นฐานที่ช่วยให้หน่วยงานสามารถจะรับนโยบายมาปฏิบัติได้กว้าง แคบแค่ไหน
(2) ปัจจัยความพร้อมด้านทรัพยากร คือการที่หน่วยงานมีอัตรากำลังคน เครื่องมือ เครื่องใช้ตลอดจนงบประมาณเพียงพอ แค่ไหนสำหรับการรับนโยบายมาปฏิบัตินั่นเอง
(3) ปัจจัยด้านประสิทธิภาพการจัดการ คือ ความสามารถหรือสมรรถนะขอหน่วยงาน งานด้านการจัดการให้มีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการดำเนินงาน ให้บรรลุเป้าหมายสำเร็จของนโยบายนั่นเอง หน่วยงานบางแห่งมีทรัพยากรมาก แต่อาจขาดประสิทธิภาพการจัดการ แต่บางหน่วยงานมีประสิทธิภาพในการนำนโยบายไปปฏิบัติได้สูงทั้งๆที่มีทรัพยากรจำกัด
ปัจจัยทั้ง 3 ด้านนี้จะต้องนำมาพิจารณาประกอบกัน เพื่อประเมินศักยภาพความพร้อมโดยส่วนรวมของหน่วยงานที่จะรับนโยบายมาปฏิบัติ และใช้ในการกำหนดเป้าสำเร็จ และแนวทางปฏิบัติของแผนด้วย
ขั้นที่ 5 การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมของหน่วยงาน ในการวางแผนเพื่อตอบสนองนโยบายใดก็ตาม จำเป็นต้องวิเคราะห์สภาพแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย
ขั้นที่ 6 กำหนดเป้าสำเร็จ ในการวางแผนสนองนโยบายใดๆ เมื่อวิเคราะห์เป้าสำเร็จที่ต้องการของนโยบาย ปัญหาความต้องการ และศักยภาพของหน่วยรับนโยบายแล้ว จึงนำเอาผลการวิเคราะห์ในข้อต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นมากำหนดเป้าสำเร็จ โดยแยกเป็นเป้าสำเร็จรวมและเป้าสำเร็จย่อยซึ่งอาจแบ่งกลุ่มพื้นที่หรือกลุ่มเป้าหมายก็ได้ ทั้งนี้การกำหนดเป้าสำเร็จจะต้องคำนึงถึง 1) ความเป็นไปได้ที่จะบรรลุ (obtainable) 2) สามารถวัดได้ (measurable) และ 3) ท้าทายให้อยากทำจนบรรลุเป้าสำเร็จ (challenging)
ขั้นที่ 7 กำหนดวิธีปฏิบัติและทรัพยากรที่ใช้ เมื่อสามารถกำหนดเป้าสำเร็จได้เหมาะสมแล้ว มีการตรวจสอบความเป็นไปได้แล้ว ผู้รับนโยบายจำเป็นต้องแปลงและดำเนินการในนโยบายให้ออกมาเป็นวิธีปฏิบัติ และวิธีปฏิบัตินั้นจะต้องมุ่งให้บรรลุเป้าสำเร็จของนโยบายและแผน เพื่อให้สอดคล้องกับแนวดำเนินการในนโยบายด้วย
ขั้นที่ 8 กำหนดองค์กรปฏิบัติ ในการรับนโยบายมาปฏิบัติในแต่ละเรื่องอาจใช้องค์การประจำหน่วยงานที่มีอยู่แล้วก็ได้ หรือบางครั้งนโยบายบางเรื่องต้องการหน่วยงานที่มีลักษณะเฉพาะพิเศษต่างจากหน่วยงานเดิมก็ได้
ขั้นที่ 9 กำหนดวิธีการจัดการ เพื่อให้หน่วยงานล่างสามารถรับแผนหรือนโยบายไปปฏิบัติได้ชัดเจน จึงจำเป็นต้องกำหนดวิธีการจัดการคือการจำแนกกิจกรรมต่างๆ และทรัพยากรที่ใช้ให้สัมพันธ์กันกับเป้าสำเร็จที่ต้องการบรรลุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสร้างระบบอำนวยการจัดการให้เกิดขึ้นด้วย เช่น มีระเบียบ แนวทางปฏิบัติให้ให้มีการตัดสินใจได้ในระดับหนึ่ง เพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการจัดการ และการปรับเปลี่ยนเป้าสำเร็จ วิธีดำเนินการ ตลอดจนการใช้ทรัพยากรเพื่อให้กิจกรรมเข้ากับสภาพความเป็นจริงของผู้ปฏิบัตินั่นเอง และจะต้องไม่ลืมว่ามีการจัดการในแต่ละระดับของหน่วยงานแตกต่างกันอย่างไรด้วย
ขั้นที่ 10 กำหนดแนววิธีการควบคุมการบรรลุเป้าสำเร็จ ในการกำหนดเป้าสำเร็จและวิธีการใช้ทรัพยากรต่างๆ โดยธรรมชาติการทำงานทั่วไปมีแนวโน้มที่จะใช้ทรัพยากรมาก บรรลุเป้าสำเร็จต่ำ ดังนั้นในการแปลงนโยบายสู่การปฏิบัติจึงมักจะต้องมีการควบคุมให้ใช้ทรัพยากรน้อย แต่ได้เป้าสำเร็จสูง การควบคุมดังกล่าวจึงอาจเป็นมาตรฐานเชิงบวกหรือเชิงลบก็ได้ ซึ่งมีขอบข่ายกว้างในทางการจัดการ อาจมีหลายลักษณะ ได้แก่ การรายงาน การติดตาม การนิเทศ และการประเมินผล ซึ่งถ้าหากจะให้เกิด ความชัดเจนแก่ผู้ปฏิบัติก็ควรกำหนดเกณฑ์ชี้วัดความสำเร็จไว้ให้ชัดเจน
3. ปัจจัยที่กำหนดความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการนำนโยบายไปปฏิบัติ
สำหรับปัจจัยที่กำหนดความสำเร็จหรือความล้มเหลวของการนำนโยบายไปปฏิบัติ มีดังนี้
3.1 ลักษณะของนโยบาย มีส่วนในการกำหนดความสำเร็จหรือความล้มเหลวของ
นโยบายได้แก่
1) ประเภทของนโยบาย การปฏิบัติตามนโยบายจะมีโอกาสประสบผลสำเร็จ
มากที่สุดหากนโยบายนั้นเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆน้อยที่สุด และมีความเห็นพ้องต้องกันในวัตถุประสงค์ในระดับสูง
2) ผลประโยชน์ของนโยบายนั้นๆ ความสำเร็จของการนำนโยบายไปปฏิบัติขึ้นกับประสบการณ์ที่ผ่านมา น้ำหนักของผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่นโยบายนั้นผลักดันให้เกิดขึ้นมา ถ้าการรับรู้มีมากกว่านโยบาย ให้ประโยชน์มากกว่านโยบายอื่น โอกาสความสำเร็จก็จะมีมาก
3) ความสอดคล้องกับค่านิยมที่มีอยู่ และความต้องการของผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบายนั้น
4) ความเป็นไปได้ในการนำมาทดลองก่อนในเชิงปฏิบัติในลักษณะของโครงการทดลอง โอกาสสำเร็จจะมีมากกว่านโยบายที่ไม่สามารถทำเป็นโครงการทดลองก่อนได้
5) ความเห็นผลได้ของนโยบาย นโยบายที่สามารถส่งผลที่สามารถเห็นได้ชัดเจน จะมีโอกาสในการประสบผลสำเร็จในทางปฏิบัติมากกว่านโยบายที่ไม่สามารถชี้ให้เห็นถึงผลที่ชัดเจน
6) คุณภาพของการส่งข้อมูลย้อนกลับ คุณประโยชน์ของการส่งข้อมูลย้อนกลับมีความสำคัญมากต่อความสำเร็จของนโยบายโดยเฉพาะถ้าเป็นนโยบายที่เสนอการเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ
3.2 วัตถุประสงค์ของนโยบาย เป็นส่วนหนึ่งในการที่จะให้การกำหนดนโยบายไปปฏิบัตินั้นสำเร็จแยกพิจารณาได้ดังนี้
1) ความชัดเจนของวัตถุประสงค์ หากวัตถุประสงค์ไม่ชัดเจน โอกาสการตีความ
ผิดจะเป็นเหตุทำให้การนำนโยบายไปปฏิบัติล้มเหลวได้
2) ความสอดคล้องต้องกันของวัตถุประสงค์ นอกจากวัตถุประสงค์จะชัดเจนแล้ว ยังจำเป็นต้องมีความสอดคล้องเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
3) ความยากง่ายในการรับรู้วัตถุประสงค์ คือ ง่ายต่อความเข้าใจ ความรับรู้ ของผู้ที่จะนำไปปฏิบัติว่า นโยบายนั้นๆมีวัตถุประสงค์อย่างไร
4) ตัวชี้วัดความสำเร็จของนโยบาย จะทราบว่าความสำเร็จของนโยบายนั้นแสดงให้เห็นได้อย่างใด อะไรคือตัวชี้วัดว่านโยบายนั้นประสลผลสำเร็จ ฉะนั้นจำเป็นต้อมีดัชนีชี้ วัตถุประสงค์ หรือเป้าหมายของนโยบายนั้นๆ
5) ความไม่เที่ยงตรงของข่าวสารต่อผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ หากแหล่งข้อมูลข่าวสารให้ข้อมูลที่ไม่สอดคล้องในการแปลวัตถุประสงค์ เป้าหมาย หรือมาตรฐานต่างๆของนโยบาย ข้อขัดแย้งเหล่านั้นจะทำให้การปฏิบัติเป็นไปได้ตามวัตถุประสงค์ของนโยบายที่แท้จริง
3.3 ความเป็นไปได้ทางการเมือง ตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับความเป็นไปได้ทางการเมืองได้แก่
1) การเจรจาระหว่างรัฐบาลและเอกชน ความสำเร็จในการนำนโยบายไปปฏิบัติ
ขึ้นอยู่กับการสนับสนุนหรือคัดค้านที่เอกชนมีต่อนโยบาย ถ้านโยบายใดจำเป็นต้องมีการเจรจากับกลุ่มธุรกิจเอกชนอยู่เสมอ โอกาสที่จะประสบปัญหาจะมีเมื่อนำไปปฏิบัติ
2) ความสนับสนุนจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นโยบายที่ขาดการสนับสนุนจากกลุ่มผลประโยชน์ และบุคคลที่สำคัญในวงการรัฐบาลและรัฐสภา โอกาสที่จะถูกคัดค้านเมื่อนำเข้าพิจารณาในกระบวนการทางนิติบัญญัติ
3) ผลกระทบของนโยบายที่มีต่อกลุ่มอาชีพที่มีอิทธิพล กลุ่มอิทธิพลจะใช้วิถีทางทั้งการเมืองและเศรษฐกิจ เพื่อที่จะยับยั้งการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบาย
4) การสนับสนุนจากชนชั้นผู้นำ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาหากการสนับสนุนจากชนชั้นผู้นำ โอกาสนำนโยบายไปปฏิบัติก็เกิดขึ้นได้ยาก
5) การสนับสนุนจากสื่อมวลชน นโยบายที่ขาดการสนับสนุนจากสื่อมวลชนมักประสบปัญหาในทางปฏิบัติ
6) การสนับสนุนจากผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ว่าชอบหรือไม่กับนโยบายนั้น
3.4 ความเป็นไปได้ทางเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีเกิดขึ้นเร็วและแต่ละ
ครั้งจะส่งผลต่อการปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบาย เทคโนโลยีที่จะนำไปใช้ในการปฏิบัติตามนโยบายที่วางเอาไว้ต้องสอดคล้องกับสภาวการณ์ หรือภาวะแวดล้อมที่จะนำนโยบายไปปฏิบัติ ข้อเสนอของนักวิชาการ ที่ปรึกษาชาวต่างประเทศ จะต้องนำมาพิจารณาให้รอบคอบ เพราะอาจไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ในประเทศกำลังพัฒนาก็เป็นได้
3.5 ความพอเพียงของทรัพยากร นโยบายที่จะนำไปปฏิบัติให้สำเร็จนั้นต้องได้รับการ
สนับสนุนทางทรัพยากร ทั้งด้านเงิน คน วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งจะกระทบกับประสิทธิภาพของนโยบาย
3.6 ลักษณะของหน่วยงานที่นำนโยบายไปปฏิบัติ โครงสร้างของหน่วยงานที่นำ
นโยบายไปปฏิบัติจะมีส่วนอย่างมากต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของนโยบายนั้น ซึ่งพิจารณาได้เป็น
1) ประเภทของหน่วยงาน หน่วยงานทีมีกำลังคน ทรัพยากรอื่นๆ พร้อม อยู่
แล้ว มีโอกาสที่นโยบายจะประสบความสำเร็จในการนำไปปฏิบัติมากกว่าหน่วยงานที่ไม่พร้อม
2) โครงสร้างและลำดับขั้นการบังคับบัญชา หน่วยงานขนาดเล็กที่มีระดับชั้นการบังคับบัญชาน้อย จำนวนผู้ที่อยู่ใต้บังคับบัญชามาก จะมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในการนำนโยบายไปปฏิบัติมากกว่าหน่วยงานขนาดใหญ่ที่มีระดับชั้นและสายการบังคับบัญชามาก แต่ผู้ใต้บังคับบัญชาน้อย
3) ความสัมพันธ์กับหน่วยงานที่กำหนดนโยบาย ความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการ ระหว่างหน่วยงานที่กำหนดและหน่วยงานที่นำนโยบายไปปฏิบัติ ถ้าความสัมพันธ์มีมากโอกาสความสำเร็จก็จะมีมากด้วย
3.7 กลไกภายในหน่วยงานหรือระหว่างหน่วยงานที่นำนโยบายไปปฏิบัติ
1) จำนวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากจำนวนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมากขึ้น
เท่าใด ปัญหาในเรื่องการประสานงานจะมีมากขึ้น และหากไม่สามารถประสานกันได้โอกาสที่นโยบายจะล้มเหลวก็มีมากขึ้น และหากไม่ประสานกันได้ โอกาสที่นโยบายจะล้มเหลวก็มีมากขึ้น
2) จำนวนจุดตัดสินใจ จำนวนจุดตัดสินใจของนโยบายถ้ามีมากขึ้นเท่าใดความล่าช้าในการปฏิบัติก็มีมากขึ้นเท่านั้น
3) ความสัมพันธ์ดังเดิมของหน่วยงายที่ร่วมปฏิบัติให้เป็นไปตามนโยบาย ถ้าร่วมมือกันดีก็จะทำให้นโยบายสามารถนำไปปฏิบัติได้ผลสำเร็จ ตรงกันข้ามกับความขัดแย้งดั้งเดิมซึ่งถ้ามีก็จะนำไปสู่ความล้มเหลว
4) การแทรกแซงของหน่วยงานระดับนโยบายอาจประสบปัญหาหากถูกแทรกแซงจากหน่วยงานระดับบนมากเกินไป
3.8 ทัศนคติของผู้ที่นำนโยบายไปปฏิบัติ นโยบายที่ขัดกับความรู้สึกพื้นฐานหรือ
ผลประโยชน์ของ ผู้ปฏิบัติอาจได้รับการคัดค้านหรือปฏิบัติอย่างไม่เต็มใจ ทัศนคติที่อาจส่งผลกระทบต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของนโยบายพิจารณาได้ดังนี้
1) ทัศนคติที่มีต่อวัตถุประสงค์ของนโยบาย นโยบายที่ผู้ปฏิบัติจะนำไปปฏิบัติ
ได้ดี ต้องเป็นนโยบายที่ผู้ปฏิบัติเข้าใจ เห็นด้วยและมีความรู้สึกผูกพัน
2) ผลกระทบที่จะมีต่อพฤติกรรมของผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ นโยบายที่มีผลให้ผู้ปฏิบัติ ต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมไปจากแนวคิดที่เคยปฏิบัติเป็นเวลาช้านาน มักประสบความล้มเหลว
3) ความขัดแย้งที่มีต่อค่านิยมของผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ ถ้าผู้นำนโยบายไปปฏิบัติไม่เห็นด้วยกับนโยบาย หรือเลือกปฏิบัติเฉพาะส่วนที่ไม่ขัดต่อค่านิยมที่ตนยึดถือ โอกาสที่จะทำให้นโยบายล้มเหลวก็สูง
4) ผลกระทบที่มีต่องาน อำนาจ ศักดิ์ศรีและผลประโยชน์ของผู้นำเอานโยบายไปปฏิบัติ ผู้นำนโยบายไปปฏิบัติมักจะหลีกเลี่ยงหรืองดเว้นไม่ปฏิบัติตามนโยบายที่ขัดกับผลประโยชน์ของตน
ตามที่กล่าวมาแล้วนั้น จะเห็นได้ว่าปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จของการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติมีหลายประการด้วยกัน เช่น แหล่งที่มาของนโยบาย ความชัดเจนของนโยบาย การสนับสนุนนโยบาย ความซับซ้อนในการบริหารงาน สิ่งจูงใจสำหรับผู้ปฏิบัติ การจัดสรรทรัพยากร เป็นต้น ซึ่งประเด็นต่างๆ เหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัยในครั้งนี้ด้วย
4. การนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผล
สำหรับการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติอย่างมีประสิทธิผลนั้น วิโรจน์ สารรัตนะ (2546 อ้างถึงในสมภาร ศิโล, 2552) ได้ให้ข้อเสนอยุทธศาสตร์ในการนำนโยบายทางการศึกษาไปปฏิบัติให้บรรลุผล โดยได้กำหนดข้อเสนอเป็น 13 ยุทธศาสตร์ในการนำนโยบายไปปฏิบัติ ดังนี้
(1) วิเคราะห์และส่งต่อนโยบาย
(2) เรียนรู้ปัญหาเพื่อแก้ไขและป้องกัน
(3) ใช้ผลการวิจัยให้เป็นประโยชน์
(4) นำทฤษฎีมาประยุกต์ใช้
(5) พัฒนาปัจจัยที่ส่งผลต่อนโยบาย
(6) ติดตาม ประเมินและวิจัยเพื่อพัฒนา
(7) มุ่งชนะสิ่งต่อต้านการเปลี่ยนแปลง
(8) มุ่งเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง
(9) ศึกษาอนาคตเพื่อวิสัยทัศน์ ริเริ่มและสร้างสรรค์
(10) ทบทวนข้อวิจารณ์ต่อการศึกษา
(11) ทบทวนข้อเสนอเพื่อปฏิรูปการศึกษา
(12) ทบทวนเพื่อเข้าใจในนโยบาย
(13) พัฒนาตัวแบบกระบวนการนโยบายของหน่วยงาน
จากที่กล่าวมาแล้ว จะเห็นได้ว่า การดำเนินการนำนโยบายสู่การปฏิบัติเป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก จากข้อความที่มีผู้กล่าวว่า การวางแผนที่ดีทำให้ประสบความสำเร็จไปแล้วครึ่งหนึ่ง หากพิจารณาให้ถ่องแท้จะพบว่า อีกครึ่งหนึ่งที่จะทำให้แผนบรรลุผลสำเร็จอย่างสมบูรณ์นั้น อยู่ที่ขั้นตอนการนำแผนไปสู่การปฏิบัตินี้เอง ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่ต้องใช้เวลา ทรัพยากรและความสามารถของบุคคลผู้ที่นำไปปฏิบัติ โดยในการดำเนินการอาจมีการปรับปรุงโครงสร้างขององค์การ แก้ไขระเบียบ กฎหมายที่รองรับการปฏิบัติ ตลอดจนการจัดหาทรัพยากรต่างๆ เช่น คน งบประมาณ และวัสดุอุปกรณ์ ต่าง ๆ ที่ใช้เพื่อการนั้น เพื่อให้เกิดผลสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

เอกสารอ้างอิง
จุมพล หนิมพานิช. (2547). การวิเคราะห์นโยบาย: ขอบข่าย แนวคิด ทฤษฎี และกรณีตัวอย่าง. นนทบุรี:
โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
นภดล พูลสวัสดิ์. (2551). ยุทธศาสตร์ กลไกสู่การปฏิบัติและการประเมินผลการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนา
ท้องถิ่นของมหาวิทยาลัยราชภัฏ : กรณีศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์. วิทยานิพนธ์ปริญญา
ศึกษาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตสาขาวิชาการบริหารการศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
ประชุม รอดประเสริฐ. (2545). นโยบายและการวางแผน หลักการทฤษฎี. พิมพ์ครั้งที่ 7. กรุงเทพฯ:
เนติกุลการพิมพ์.
มยุรี อนุมานราชธน. (2549). นโยบายสาธารณะ. กรุงเทพฯ : เอ็กซเปอร์เน็ท.
วรเดช จันทรศร. (2551). จากนโยบายสู่การปฏิบัติ: องค์ความรู้ ตัวแบบทางทฤษฎี และการประเมิน
ความสำเร็จ ความล้มเหลว. กรุงเทพฯ: พริกหวาน กราฟฟิก.
วิโรจน์ สารรัตนะ. (2546). การบริหารการศึกษา: นโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อการบรรลุผล. กรุงเทพฯ:
ทิพยวิสุทธิ์.
. (2550). แนวคิดของการวิจัยเชิงนโยบาย. ใน วิโรจน์ สารรัตนะ (บรรณาธิการ). วารสารบริหาร
การศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 3(2),12-24. ขอนแก่น: โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา.
วิโรจน์ สารรัตนะ, และประยุทธ ชูสอน. (2548). นโยบายและการวิจัยเชิงนโยบาย. ใน วิโรจน์ สารรัตนะ
(บรรณาธิการ). วารสารบริหารการศึกษา มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 1(2), 32-42.
สมภาร ศิโล. (2552). ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา : กรณีศึกษามหาวิทยาลัย
ราชภัฏชัยภูมิ. วิทยานิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการบริหารการศึกษา
บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
Majchrzak, M. (1984). Methods for policy research: Applied social research methods series volume 3.
California: Corwin Press.

ผลการวิจัยสำรวจสถาบันในการร่างข้อเสนอเพื่อพัฒนาวิชาการของมหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ

เมื่อปี 2552 ข้าพเจ้าได้ทุนทำการวิจัยสำรวจสถาบัน(institutional survey study) ในด้านการพัฒนาวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา กรณีศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ เป็นข้อมูลจากการเก็บรวบรวมข้อมูล 3 วิธี คือ การศึกษาวิเคราะห์เอกสาร(document analysis) การศึกษาเชิงสำรวจ(survey study) โดยใช้แบบสอบถาม และสนทนากลุ่ม เป้าหมาย(focus group discussion) แนวทางการวิจัยสถาบัน (Instituted research) เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการนำกระบวนการวิจัยมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสถาบันอย่างเป็นระบบ เพื่อหาแนวทางกำหนดนโยบายในการจัดสรรทรัพยากรทางการศึกษาให้พัฒนางานวิชาการของสถาบันไปสู่ความเป็นเลิศ สำหรับผลการวิจัยในกรณีศึกษาที่ยกมา ได้ผลการวิเคราะห์ข้อมูล ดังนี้

4.1 ด้านการเรียนการสอน
4.1.1 วัตถุประสงค์ 1 : เพื่อพัฒนากระบวนการเรียนรู้ และกระบวนการสอนที่มุ่งให้นักศึกษาเป็นผู้มีความรู้ ทักษะและความสามารถสูงทั้งในเชิงวิชาการและวิชาชีพ
4.1.2 เป้าหมาย
(1) นักศึกษาทุกสาขาวิชาได้ศึกษาเรียนรู้ในสภาพจริงนอกสถานที่มากขึ้น
(2) อาจารย์มีการใช้สื่อ นวัตกรรมที่ทันสมัยในการสอน
(3) อาจารย์จัดการเรียนการสอนได้อย่างมีคุณภาพ มีทักษะ เทคนิค วิธีการสอน และ
การประเมินผลที่น่าสนใจ สามารถเชื่อมโยงสู่การนำไปใช้ในสภาพที่แท้จริงได้
(4) อาจารย์ประจำหลักสูตรทุกสาขาวิชาสามารถจัดโครงสร้างหลักสูตร เนื้อหาสาระวิชาและจัดอาจารย์ผู้สอนได้เหมาะสมตามความชำนาญ และมีประสิทธิภาพ

4.1.3 แนวการดำเนินงาน
(1) ส่งเสริมการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นให้นักศึกษาได้เรียนรู้นอกสถานที่มากขึ้น
(2) คณะวิชา สาขาวิชาจัดให้มีสื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการเรียนการสอนอย่างเพียงพอ
(3) จัดโครงการอบรมพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอนของอาจารย์ให้สูงขึ้น
(4) วางเกณฑ์การพิจารณาจัดอาจารย์ผู้สอนให้เหมาะสมในศาสตร์หรือสาขาที่ชำนาญ
(5) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาการประเมินผลตามสภาพที่แท้จริงแก่อาจารย์ทุกคน
(6) จัดประชุมปฏิบัติการพัฒนาการจัดโครงสร้างหลักสูตรและเนื้อหาสาระวิชาให้กับประธานและเลขานุการทุกสาขาวิชา
(7) จัดโครงการอบรมพัฒนาอาจารย์ผู้สอนให้มีทักษะ เทคนิค วิธีการสอนที่น่าสนใจ สามารถเชื่อมโยงสู่การนำไปใช้ในสภาพที่แท้จริง
(8) กำหนดแนวปฏิบัติให้มีการประเมินผลการศึกษารายวิชาทุกระยะอย่างต่อเนื่อง
4.2 ด้านการวิจัย
4.2.1 วัตถุประสงค์ 2 : เพื่อพัฒนาการวิจัย ให้มีผลผลิตสูงทั้งปริมาณและคุณภาพ
4.2.2 เป้าหมาย
(1) บุคลากรมีศักยภาพทางการวิจัย
(2) นักศึกษาทุกสาขาวิชาสามารถทำวิจัยได้
(3) อาจารย์มีผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง
(4) สถาบันมีผลงานวิจัยที่มีคุณภาพและได้รับการเผยแพร่หรือถูกนำไปใช้มากขึ้น
(5) มีทุนหรืองบประมาณสนับสนุนการวิจัยที่เพิ่มขึ้นและเพียงพอ
(6) มีระบบการบริหารจัดการงานวิจัยที่มีประสิทธิภาพ
4.2.3 แนวการดำเนินงาน
(1) จัดโครงการเพื่อพัฒนาบุคลากรและเสริมสร้างศักยภาพทางการวิจัย
(2) ส่งเสริมการจัดกิจกรรมที่ให้นักศึกษาสามารถทำวิจัยได้จริง
(3) กำหนดเกณฑ์ภาระงานให้อาจารย์ได้ทำวิจัยทุกคนอย่างน้อยหนึ่งเรื่องต่อปี
(4) สนับสนุนส่งเสริมโครงการเผยแพร่และนำผลงานวิจัยไปใช้
(5) จัดทำแผนการเพิ่มปริมาณและคุณภาพของงานวิจัย
(6) จัดระดมการเพิ่มทุนวิจัยจากภายในและภายนอก
(7) กำหนดเกณฑ์การจัดสรรงบประมาณอุดหนุนโครงการวิจัยให้เพียงพอ
(8) โครงการพัฒนาการบริหารจัดการงานวิจัย
4.3 ด้านนักศึกษา
4.3.1 วัตถุประสงค์ 3 : เพื่อพัฒนาประชากรในท้องถิ่นให้เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพใน การพัฒนาสังคมและประเทศชาติ
4.3.2 เป้าหมาย
(1) บัณฑิตมีงานทำ หรือศึกษาต่อ และผู้ใช้บัณฑิตมีความพึงพอใจ
(2) นักศึกษาที่ผ่านระบบการรับเข้ามีคุณสมบัติและคุณภาพสูงขึ้น
(3) มีอาคารศูนย์บริการสวัสดิการนักศึกษาที่มีความสะดวกสบายภายในสถาบัน
(4) มีระบบดูแลช่วยเหลือนักศึกษาที่มีประสิทธิภาพ
(5) มีกิจกรรม โครงการ และงบประมาณด้านการพัฒนานักศึกษาที่เพิ่มมากขึ้นและต่อเนื่อง
(6) นักศึกษามีส่วนร่วมในกิจกรรมการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์มากขึ้น
(7) นักศึกษามีความเป็นเลิศในทักษะทางวิชาการในด้านต่าง ๆสูงขึ้น
4.3.3 แนวการดำเนินงาน
(1) ส่งเสริมการได้งานทำ การศึกษาต่อ และการเสริมสร้างความพึงพอใจของผู้ใช้บัณฑิต
(2) จัดโครงการพัฒนาระบบการรับเข้านักศึกษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
(3) จัดให้มีศูนย์บริการสวัสดิการนักศึกษาที่มีทั้งธนาคาร ไปรษณีย์ ร้านค้า ร้าน มินิมาร์ท ร้านอาหาร ร้านขายยา สหกรณ์ ยิมเนเซียม คลินิกและร้านเสริมสวย ฯลฯ
(4) จัดทุน สวัสดิการ การแนะแนวและระบบดูแลช่วยเหลือนักศึกษา
(5) เพิ่มจำนวนกิจกรรม โครงการ และงบประมาณพัฒนานักศึกษาให้มากขึ้นและต่อเนื่อง
(6) จัดโครงการพัฒนาคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักศึกษา
(7) สนับสนุนส่งเสริมนักศึกษาไปสู่ความเป็นเลิศ ในการเข้าร่วมแข่งขันทักษะในระดับต่าง ๆ
(8) จัดเวทีกิจกรรมส่งเสริมการมีส่วนร่วมและการรับฟังความคิดเห็นของนักศึกษาให้มากขึ้น
4.4 ด้านคณาจารย์
4.4.1 วัตถุประสงค์ 4 : เพื่อพัฒนาคณาจารย์ให้มีสัดส่วนที่เหมาะสม มีคุณวุฒิ คุณธรรม และคุณภาพทางวิชาการ
4.4.2 เป้าหมาย
(1) มีอาจารย์ที่มีศักยภาพทางวิชาการประจำทุกหลักสูตรตามเกณฑ์มาตรฐาน
(2) มีระบบอาจารย์ที่ปรึกษาที่มีประสิทธิผล
(3) อาจารย์ที่จัดเข้าสอนเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ ตรงคุณวุฒิและความเชี่ยวชาญ
(4) มีระบบการประเมินการสอนของอาจารย์ที่มีประสิทธิผล
(5) อาจารย์มีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่
4.4.3 แนวการดำเนินงาน
(1) จัดสรรอัตรา เพิ่มคุณวุฒิ คุณสมบัติและประสบการณ์ของอาจารย์
(2) พัฒนาระบบอาจารย์ที่ปรึกษาให้ทำหน้าที่ได้อย่างแท้จริง
(3) จัดปัจจัยสนับสนุนการกำหนดตำแหน่ง ผลงานทางวิชาการ และรางวัลเกียรติยศชื่อเสียง
(4) จัดอาจารย์สอนให้ตรงความชำนาญหรือเชี่ยวชาญ และสาขาที่สำเร็จการศึกษา
(5) พัฒนาระบบระเบียบการสรรหาอาจารย์ให้ได้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถสูง
(6) จัดโครงการนิเทศและประเมินการสอนของอาจารย์อย่างต่อเนื่องและสะท้อนผลสู่การพัฒนา
(7) เพิ่มการจัดโครงการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพอาจารย์
4.5 ด้านการบริหารจัดการ
4.5.1 วัตถุประสงค์ 5 : เพื่อปรับปรุงปัจจัยและพัฒนากระบวนการบริหารจัดการให้สนับสนุนส่งเสริมต่อคุณภาพและมาตรฐานทางวิชาการ
4.5.2 เป้าหมาย
(1) มีระบบโปรแกรมสำเร็จรูปหรือ MIS ในการบริหารจัดการและให้บริการวิชาการ
(2) มีระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลเอื้อต่อการพัฒนาวิชาการ
(3) ผู้บริหารวิชาการในทุกระดับเป็นผู้มีความรู้ความสามารถเป็นที่ยอมรับ
(4) การจัดการทางการเงินและงบประมาณที่ส่งเสริมการพัฒนาวิชาการมากขึ้น
(5) สถาบันผ่านการประเมินตามตัวชี้วัดของ ก.พ.ร. ในระดับสูง
(6) คณาจารย์และผู้บริหารทุกระดับมีภาวะผู้นำทางวิชาการ
4.5.3 แนวการดำเนินงาน
(1) จัดให้มีระบบโปรแกรมการลงทะเบียนทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์
(2) ปรับปรุงพัฒนาประสิทธิภาพระบบการบริหารทรัพยากรบุคคล
(3) ปรับปรุงระเบียบ ข้อบังคับ แนวปฏิบัติที่เกี่ยวกับการคัดเลือกหรือสรรหาผู้บริหารวิชาการในทุกระดับ
(4) ปรับลดขั้นตอนการปฏิบัติงานวิชาการที่ซ้ำซ้อนลง
(5) นำระบบ MIS มาใช้ในการบริหารจัดการและการให้บริการวิชาการปรับปรุงพัฒนา
(6) ปรับปรุงพัฒนาการจัดการทางการเงินและงบประมาณ
(7) เพิ่มการจัดสรรงบประมาณด้านวิชาการให้มากยิ่งขึ้น
(8) เร่งมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพของการปฏิบัติราชการตามนโยบายของรัฐบาล
(9) จัดกิจกรรมหรือโครงการพัฒนาภาวะผู้นำทางวิชาการของคณาจารย์และผู้บริหารทุกระดับ
(10) ฝึกอบรมพัฒนาทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในการบริการวิชาการให้รวดเร็วทันสมัย
(11) ปรับปรุงพัฒนาระบบการจัดการและประเมินภาระงานของอาจารย์และบุคลากรที่ชัดเจนให้ส่งเสริมต่อการพัฒนางานวิชาการ
4.6 ด้านแหล่งเรียนรู้
4.6.1 วัตถุประสงค์ 6 : เพื่อพัฒนาแหล่งเรียนรู้ให้เอื้อต่อการเรียนรู้ของนักศึกษาและพัฒนาคุณภาพของบัณฑิต
4.6.2 เป้าหมาย
(1) มีห้องสมุด อาคารเรียน ศูนย์การศึกษา หรือศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาค้นคว้าและคอมพิวเตอร์ที่สะดวกและทันสมัย
(2) มีแหล่งฝึกปฏิบัติจริง ห้องปฏิบัติการเฉพาะด้านภายในสถาบันที่เป็นห้องเรียนแห่งเทคโนโลยี
(3) มีแหล่งข้อมูลสารสนเทศและบริการที่หลากหลาย และขยายการให้บริการมากขึ้น
(4) มีห้องสมุดประจำสาขาหรือคณะวิชา
4.6.3 แนวการดำเนินงาน
(1) พัฒนาห้องสมุด อาคารเรียน ศูนย์การศึกษา หรือศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษาค้นคว้า
(2) จัดให้มีแหล่งฝึกปฏิบัติจริง ห้องปฏิบัติการเฉพาะด้านภายในสถาบันก่อนออกฝึกนอกสถาบัน
(3) จัดแหล่งข้อมูลสารสนเทศและบริการที่หลากหลาย
(4) จัดกิจกรรมในการสำรวจและสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับแหลงฝึกภาคปฏิบัติและแหล่งฝึกประสบการณ์วิชาชีพ
(5) จัดขยายพื้นที่การให้บริการเครื่องคอมพิวเตอร์ในสถานที่ต่าง ๆของสถาบัน
(6) จัดสร้างห้องสมุดประจำสาขาให้เพิ่มมากขึ้น
(7) จัดขยายการเปิดให้บริการห้องสมุดจนถึง 18.00 น.หรือมากกว่าตาม ความเหมาะสม
(8) จัดห้องเรียนให้เป็นห้องเรียนแห่งเทคโนโลยี
(9) จัดให้มีห้องปฏิบัติการเฉพาะด้านสำหรับนักศึกษาปริญญาตรีและบัณฑิตศึกษาที่สะดวกและเหมาะสม
4.7 ด้านหลักสูตร
4.7.1 วัตถุประสงค์ 7 : เพื่อปรับปรุงและพัฒนาการบริหารจัดการหลักสูตรให้มีคุณภาพได้มาตรฐานทางวิชาการ
4.7.2 เป้าหมาย
(1) หลักสูตรที่เปิดจัดการศึกษาสอดคล้องกับความต้องการของตลาดวิชาและได้มาตรฐานตามเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง
(2) หลักสูตรที่มีวิชาชีพควบคุมได้มาตรฐานตามเกณฑ์วิชาชีพที่เกี่ยวข้อง
(3) ทุกหลักสูตรได้รับการปรับปรุงพัฒนาให้ทันสมัย
(4) คณาจารย์ทุกสาขาวิชามีความรู้ความสามารถในการบริหารหลักสูตร
(5) มีคูมือและเอกสารประกอบหลักสูตรรายวิชาที่เหมาะสมและเพียงพอ
4.7.3 แนวการดำเนินงาน
(1) เปิดสอนในหลักสูตรวิชาที่ขาดแคลนสอดคล้องกับความต้องการของตลาดวิชา
(2) จัดโครงการพัฒนาหลักสูตรให้มีคุณภาพได้มาตรฐาน
(3) เร่งปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตรที่มีใบประกอบวิชาชีพให้ผ่านการประเมินโดยเร็ว
(4) ให้มีโครงการปรับปรุงพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยภายในทุก 5 ปี
(5) เพิ่มอัตราและศักยภาพอาจารย์ประจำของแต่ละหลักสูตร
(6) โครงการอบรมเชิงปฏิบัติการให้คณาจารย์มีความรู้ความสามารถในการบริหารหลักสูตร
(7) จัดงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาเอกสารหลักสูตร คูมือการใช้และเอกสารประกอบ
(8) จัดกิจกรรมส่งเสริมการศึกษาวิเคราะห์ปรับปรุงและพัฒนาหลักสูตร
(9) จัดกิจกรรมการเตรียมความพร้อมในการนำหลักสูตรไปใช้ในการจัดการเรียน การสอน
(10) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีเอกสารประกอบการสอนทุกรายวิชา
(11) กำหนดแผนและมาตรการพัฒนาระบบการบริหารจัดการหลักสูตรให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
4.8 ด้านสื่อ นวัตกรรม
4.8.1 วัตถุประสงค์ 8 : เพื่อส่งเสริมคุณภาพการเรียนรู้ด้วยสื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาที่ทันสมัย
4.8.2 เป้าหมาย
(1) มีระบบฐานข้อมูลและการให้บริการการเรียนการสอนด้วยสื่อทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัยและทั่วถึง
(2) มีการผลิต พัฒนา และการจัดหาสื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีการเรียนการสอน
(3) มีสื่อ เอกสาร ตำรา และงานวิจัยที่เพียงพอ ทันสมัยและสอดคล้องกับความต้องการของคณาจารย์และนักศึกษา
(4) มีระบบ e-learning ที่มีประสิทธิผล
4.8.3 แนวการดำเนินงาน
(1) โครงการพัฒนาระบบฐานข้อมูลและการให้บริการการเรียนการสอนด้วยสื่อทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย
(2) จัดขยายเครือข่ายอินเตอร์ไร้สายบริการทุกชั้น ทุกอาคารเรียนหลัก
(3) โครงการส่งเสริมการผลิต พัฒนา และการจัดหาสื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยี การเรียนการสอน
(4) จัดสรรงบประมาณในการเพิ่มปริมาณเอกสาร ตำรา และงานวิจัยให้เพียงพอและทันสมัย
(5) จัดหาสื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของคณาจารย์และนักศึกษา
(6) จัดให้มีระบบ e-learning และมาตรการในการนำไปใช้อย่างมีประสิทธิผล
(7) จัดหาตำราสาขาเฉพาะด้านในระดับบัณฑิตศึกษาให้เพียงพอ
(8) ฝึกอบรมการพัฒนาทักษะการให้บริการของบุคลากรห้องสมุด

ข้อเสนอเหล่านี้ได้จากการวิจัยที่เป็นระบบระเบียบหลากหลายวิธีจากหลากหลายแหล่งข้อมูล โดยเฉพาะผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการจัดการศึกษาของสถาบันแห่งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งถ้าผู้บริหารได้นำไปสู่การกำหนดนโยบายและนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง จะเป็นประโยชน์ต่อผลผลิตและเป้าหมายสูงสุดของการจัดการศึกษา คือ นักศึกษาที่เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพของสถาบัน ครอบครัว สังคมและประเทศชาติ แต่ข้อเสนอเหล่านี้เมื่อได้รับการตอบสนองหรือแก้ปัญหาหรือสามารถพัฒนาให้สูงกว่าในประเด็นใดแล้วก็อาจจะล้าสมัยหรือไม่มีความจำเป็นที่จะต้องนำไปปฏิบัติ ดังนั้นผู้บริหารที่เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลง และผู้บริหารมืออาชีพจึงควรมีการทบทวนนโยบายและตั้งเป้าหมายที่สูงขึ้นในทุกๆปีการศึกษา หรือทุกๆสามถึงห้าปี เป็นต้น


เอกสารอ้างอิง

สมภาร ศิโล. 2552. ข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาวิชาการในสถาบันอุดมศึกษา: กรณีศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฏชัยภูมิ. ดุษฎีนิพนธ์ปริญญาศึกษาศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยขอนแก่น.
Hoy, W.K., and Miskel, C.G., 2001. Educational Administration: Theory, Research, and Practice. 6th ed., New York: McGraw-Hill.
Parkay, F.W., and Hall, G.E., 1992. Becoming a Principal: The Challenges of Beginning Leadership. Massachusetts: Allyn & Bacon.